ประวัติคณะ
คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เขตการศึกษาภูเก็ต ได้แยกตัวออกมาจากวิทยาลัยชุมชนภูเก็ตและจัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยและประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2548 เป้าหมายหลักอยู่ที่การผลิตบัณฑิตและผลงานวิชาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสิ่งแวดล้อม บูรณาการองค์ความรู้ใหม่ให้เป็นศูนย์กลางแหล่งความรู้ ที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นและประเทศ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการนำไปถ่ายทอดให้เกิดการใช้จริง มีทีมงานที่เข้มแข็งทั้งอาจารย์และสายสนับสนุน มีงานวิจัยที่โดดเด่น มีหลักสูตรที่น่าสนใจ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์(ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์) วิศวกรรมคอมพิวเตอร์(ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์) และที่กำลังพัฒนาเป็นจุดเด่นต่อไปคือด้าน Animation และ Multimedia รวมทั้งงานวิจัยและการพัฒนาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมฝั่งอันดามัน
คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นนักพัฒนาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและรอบรู้ มีความเข้าใจและสำนึกอันดีต่อตนเอง สถาบัน และสังคม เน้นการเรียนรู้พัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลงานทางวิชาการ บูรณาการองค์ความรู้ใหม่ให้เป็นศูนย์กลางแหล่งความรู้ และอ้างอิงทางวิชาการ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น ชายฝั่งทะเลอันดามันและประเทศ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการนำไปถ่ายทอดให้เกิดการใช้จริง เป็นผู้นำในการบริการวิชาการด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ทุกหลักสูตร เน้นการเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษโดยการจัดให้ 30% ของวิชาด้านคอมพิวเตอร์สอนเป็นภาษาอังกฤษ มีการเตรียมความพร้อมให้บัณฑิตพร้อมที่จะทำงานได้ทันทีโดยนักศึกษาทุกคนจะต้องผ่านการฝึกงานครั้งแรกอย่างน้อย 320 ชั่วโมง และนักศึกษาที่มีศักยภาพสูงจะได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาในแผน ก สหกิจศึกษา คือ ทำงานเสมือนเป็นพนักงานคนหนึ่งของหน่วยงานภายใต้การควบคุมของหน่วยงานหรือองค์กรนั้นและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย สำหรับนักศึกษาที่ไม่ผ่านการคัดเลือกจะเข้าเรียนในแผน ข (ฝึกงาน) ซึ่งจะต้องผ่านการฝึกงานครั้งที่ 2 อีก 320 ชั่วโมง และเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล ให้พัฒนาเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจและพัมนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาภูเก็ต (The Greater Phuket digital Paradise : PhD) ทำให้มีการตื่นตัวและกำลังสนับสนุนจากท้องถิ่นอย่างเต็มที่
วิสัยทัศน์
“เป็นคณะชั้นนำด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมระดับชาติ ภายในปี 2024” โดยคณะมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ผ่านพันธกิจ 3 ด้านของคณะ โดยสอดแทรกการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมในพันธกิจทั้ง 3 ด้าน
พันธกิจ
(1) ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
(2) ผลิตและเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
(3) ให้บริการวิชาการด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
ค่านิยม
PSU : P: Professionalism, S: Social responsibility, U: Unity
สมรรถนะหลัก
มีความเชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยีในการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อันดามัน